EPR คืออะไร?
Extended Producer Responsibility หรือเรียกสั้นๆว่า EPR คือหลักการในการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่องนโยบายของเยอรมันประเทศที่ประสบความสำเร็จใน หลัก”EPR”
หลัก EPR ถูกใช้ครั้งแรกในประเทศเยอรมันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 โดยมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ผลิตจะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการรีไซเคิล และผู้ผลิตจะต้องลดปริมาณวัสดุที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด หรือผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำใหม่ได้เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะให้น้อยที่สุด และผู้ผลิตจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมกับองค์กร Duales System Deutschland (DSD) เพื่อที่จะได้เครื่องหมาย Green Dot ที่สื่อถึงว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเข้าร่วมนโยบาย EPR ของรัฐบาล
การให้ความสำคัญของรัฐบาลส่งผลให้ประสบความสำเร็จ!
การสนับสนุนหลักการและบังคับใช้ EPR ของรัฐบาลเยอรมัน ส่งผลให้ประเทศของเขามีปริมาณการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ต่างๆมากกว่า 65% และยังมีระบบมัดจำคืนเงินสำหรับผู้ที่นำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มมาส่งคืนที่จุดรีไซเคิล ทำให้มีอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศเยอรมันมากกว่า 95%!
หลัก”EPR” ในไทยไปถึงไหนแล้ว?
สำหรับประเทศไทยหลักการ EPR ถูกบรรจุอยู่ในแผนการจัดการขยะพลาสติก พศ. 2562-2573 และแผนปฎิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (2563-2565) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องทำการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจุบัน ถึงแม้มีกฎหมายสำหรับการรวบรวมและจัดการขยะ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ได้ออกข้อบังคับบังคับใช้ เนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมขยะที่มีไม่พอกับจำนวนความต้องการของประชากร พวกเขาทำได้แค่เก็บขยะทุกชนิดมารวมๆกัน ส่วนขยะรีไซเคิลที่มีราคาสูงจะต้องรอวัดดวงว่าพนักงานเก็บขยะจะมีเวลาแยกออกจากขยะทั่วไปเพื่อนำไปขายต่อเป็นรายได้เสริมหรือไม่
นโยบายของไทยควรไปในทิศทางไหน
ความหวังของ EPR ในไทยคงจะต้องพึ่งบริษัทผู้ผลิตเป็นหลัก ที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้มากขึ้น มีการทำ CSR เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะในไทย หลัก EPR ยังคงเป็นมาตราการในเชิงสมัครใจที่อยู่ในรูปแบบการรณรงค์ของบริษัทผู้ผลิตเป็นหลัก ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมได้ในระดับหนึ่ง
จากการศึกษาโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลัก EPR ในไทยควรที่จะออกมาในรูปแบบที่ผู้ผลิตควรเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าธรรมเนียม EPR โดยที่ค่าธรรมเนียมจะถูกกำหนดตามระดับความยากง่ายในการรีไซเคิล เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ที่จัดจำหน่ายควรที่จะจัดตั้งจุด Drop-off เพื่อที่จะสนับสนุนการเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันมีผู้จัดจำหน่ายหลายรายให้ความร่วมมือโดยสมัครใจอยู่แล้ว
ภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจและบังคับใช้ EPR และปรับปรุงระบบวงจรการจัดการขยะ เช่น ออกนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่เข้าร่วม EPR สนับสนุนการลดขยะพลาสติกในองค์กร แบ่งพื้นที่บางส่วนมาจัดทำเป็นศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิล อีกทั้งยังมีการเสนอให้ขึ้นทะเบียนกลุ่มซาเล้งและกลุ่มรับซื้อของเก่า เพิ่มสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และรายได้ ให้กับกลุ่มซาเล้ง สนับสนุนให้ร้านรับซื้อของเก่าทำการปรับปรุงหน้าร้านและรายงานข้อมูลขยะบรรจุภัณฑ์อย่างโปร่งใส
ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันถึงจะสำเร็จ!
สุดท้ายนี้ การที่หลักการ EPR จะสำเร็จในประเทศไทยได้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐบาลที่ต้องออกนโยบายให้เข้มงวด ด้านผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบกับขยะบรรจุภัณฑ์ที่ตนสร้างมา ส่วนผู้บริโภคก็ต้องสนใจในการจัดการกับขยะให้ถูกวิธีด้วย
ในระหว่างที่ระบบ EPR ในไทยกำลังตั้งไข่ เพื่อนๆสามารถที่จะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการ reduce, reuse และ recycle
เริ่มรีไซเคิลขยะวันนี้
เริ่มรีไซเคิลกับ Trash Lucky และลุ้นรางวัลทองคำเลย! ดูประเภทวัสดุรีไซเคิลที่เรารับได้ที่นี่
สมัครสมาชิกผ่าน LINE @trashlucky หรือ คลิก
ที่มา: